ถ้านักปราชญ์กรีกอย่างเพลโต หรืออริสโตเติล เชื่อว่ามนุษย์มีความสามารถที่จะไปถึงความสมบูรณ์แห่งตน หรือ telosได้ แล้วtelos ของแต่ละคนจะเหมือนกันหรือเปล่า แล้วอะไรที่เป็น arete ของตัวเรา เป็นไปได้หรือไม่ที่บางคนตลอดชีวิต ก็อาจจะไม่รู้ว่า arete ของตัวเองคืออะไร ความพึงพอใจ และการยึดติดในบางสิ่ง รวมทั้งความทุกข์ ความเศร้าที่เข้ามาในชีวิต จะเป็นตัวขัดขวางการไปสู่ telos และ arete ของเราหรือไม่
เมื่อมีปัญหาและความไม่สบายใจ ทางสายกลาง (means)ที่ควรกระทำอันสัมพันธ์ สอดคล้องกับตัวเรา คืออะไร แล้วในสายตาคนอื่นจะเห็นด้วย เข้าใจในการกระทำที่เราเชื่อว่าเป็นทางสายกลางของเราหรือเปล่า แล้วเราจะเอาสิ่งที่ไม่สบายใจออกไปจากความคิดได้ง่ายๆอย่างไร
โดยส่วนตัว ไม่ได้คิด ไม่ได้เชื่อในความเท่าเทียมของมนุษย์ แต่นักปราชญ์การเมืองอย่าง โทมัส ฮอบส์ จะมองว่า มนุษย์มีความเท่าเทียมในความปรารถนา อัตตา และเสมอหน้ากันในความตายไม่ว่าจะเป็นผู้แข็งแกร่งกว่าในทางกายภาพหรือไม่ก็ตาม หรือตัวเราเองก็เป็นไปในลักษณะเช่นนี้ มีความคาดหวัง ความปรารถนา และมีความรู้สึกว่า เราควรจะได้สิ่งนั้น สิ่งนี้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เรามีสิทธิ มีความสามารถพอจะได้สิ่งนั้นหรือไม่ก็ตาม และในบางสิ่งที่เราอยากได้ ก็เป็นสิทธิของบุคคลอื่นที่อาจจะมีฐานะ สถานภาพทางสังคมเหนือกว่าเรา และเป็นไปตามความประสงค์ของบุคคลนั้นว่า จะให้สิ่งนั้นๆแก่เราหรือไม่ เพราะในเรื่องเดียวกัน เราคิดเข้าข้างตัวเองว่า เราเหมาะ เราสมควรได้รับ แต่บุคคลอื่นนั้นกลับมองตรงข้ามกลับเรา แล้วเราจะกระทำอย่างไร...ต่อต้าน ประท้วง คัดค้าน หรื่อทำใจ
ในขณะที่เพลโตมองว่า คนที่เข้มแข็ง คือ ผู้ที่มีความเข้มแข็งกว่าทางจิต...ว่าแต่ต้องเป็นจิตแบบใดเล่า จิตที่รักในความรู้ จิตที่รักในเกียรติ หรือจิตที่รักในกามสุข ถ้าเป็นในลักษณะนี้ โดยทั่วไปและโดยส่วนมาก ย่อมต้องตอบว่า จิตที่รักในความรู้ย่อมสำคัญ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะปฏิเสธได้ยากว่า หลายคนก็ปรารถนาในเกียรติ ปรารถนาในกามสุขด้วยเช่นกัน และหากจะโยงกับเรื่องการกระทำดีที่เพลโตว่า เป็นสิ่งที่ในขณะกระทำก็มีความสุข และมีความสุขจากผลของการกระทำด้วย แต่หลายครั้งที่ในขณะกระทำเราก็ไม่ได้รู้สึกมีความสุขนัก อาทิ การออกกำลังกาย แต่ก็คาดหวังถึงสิ่งที่จะได้รับตามมา และในชีวิตของเรา บางสิ่งในขณะกระทำก้คงไม่ได้มีความสุขนัก และผลที่ได้รับตามมาก็ไม่ได้ให้สิ่งที่ดี หรือความรู้สึกที่ดีแก่ตัวเรา แต่กระนั้นก็ยังต้องกระทำต่อไปเพราะความจำเป็นและเหตุผลของแต่ละคนภายใต้พันธนาการจากสังคมหรือจากความคิดของตนเองที่ร้องรัดตัวตนของเราอยู่
หรือจะเป็นไปดังคำกล่าวของรุสโซที่ว่า มนุษย์นั้นเกิดมาเสรี แต่ทุกหนแห่งล้วนเต็มไปด้วยพันธนาการ...แล้วเราจะหลุดพ้นจากพันธนาการสังคมและพันธนาการแห่งจิตได้อย่างไร
ถ้า arete ของคน คือ คุณธรรม และจะบรรลุได้ เมื่ออยู่รวมกันเป็น association ตั้งแต่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน จนถึงระดับรัฐ แล้วคนที่ไม่มี association ล่ะ คนที่แยกตัวออกมาโดดเดี่ยว เป็นเพียงคนที่ต่ำกว่าสัตว์ หรือสูงเลิศเลอกว่าคนกระนั้นหรือ ทำไมพระพุทธองค์ต้องปลีกตัวออกจากแวดวง สังคมกษัตริย์ของพระองค์ เพื่อแสวงหาสัจธรรม ทำไมสังคมกษัตริย์ของพระพุทธองค์ ไม่เอื้ออำนวยต่อการบรรลุคุณธรรมหรือ เป็นเพราะแต่ละ association เอง ก็มิได้จะสามารถเอื้อให้คนไปสู่ telos และ arete ได้ทุก association หรือทุกคน?
หากคำกล่าวของนักปราชญ์ต่างๆ เป็นสิ่งจริงแท้ และเป็นสากลแล้ว สิ่งที่จิตในขณะนี้ปรารถนา ก็คงหวังว่า ตัวตนของเราจะมีความเข้มแข็งทางจิต และมี association ที่จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากความลังเล สงสัย ความคลางแคลงใจ ความอิจฉาริษยา ความชั่วร้ายต่างๆทั้งที่แสดงออกและเก็บกักไว้ในจิตของตน ส่วนจะไปถึง telos และ arete หรือไม่นั้น ไม่ได้ใคร่หวังอะไรนัก ขอเพียงแต่รู้สึกสบายใจ และก้าวต่อไปได้อย่างไม่ยึดติดกับสิ่งที่ผิดหวังนั้น ก็เพียงพอแก่จิตขณะนี้แล้ว
หมายเหตุ : ประเด็นใดๆในข้อความข้างต้น หากมีส่วนใดที่เกี่ยวข้องกับนักปราชญ์นั้นๆ ขอให้รับรู้ไว้ว่า อาจจะไม่ได้เป็นเช่นนั้น และอาจเป็นความเข้าใจผิดของผู้เขียน ซึ่งมิได้มีโอกาสไปถามไถ่กับนักปราชญ์เหล่านั้นว่า เป็นดังที่เขียนไว้หรือไม่ ส่วนผู้ใดเกิดความสงสัยขอจงไปสอบถามยังผู้รู้ท่านอื่นจักเกิดประโยชน์กว่าการมาถามไถ่ข้าพเจ้า ซึ่งมิได้มีความรู้ใดๆจะอธิบายได้ เพราะข้าพเจ้าคงตอบได้เพียง ข้าพเจ้าไม่รู้อะไรเลย