การศึกษานับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคุณภาพของคน ซึ่งถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าของประเทศชาติ ในอันที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าและมั่นคง ดังที่กระทรวงศึกษาธิการ (2544, หน้า 4) กล่าวไว้ว่า “...การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรม ในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ปัจจุบันภาครัฐบาลก็ได้พยายามมุ่งส่งเสริมการศึกษาให้ครอบคลุมกว้างขวางออกไปทั้งในรูปการจัดสรรงบประมาณ และบริการการศึกษาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในระบบการจัดการศึกษาแต่เดิมจะเป็นการจัดเพียงรูปแบบเดียว คือ การศึกษาปกติทั่วไป (Regular Education) ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงคนพิการหรือบุคคลที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในระบบปกติทั่วไป ส่งผลให้คนพิการถูกละเลย และไม่ได้รับการศึกษาอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักส่งเสริมและพิทักษ์คนพิการ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2549 พบว่า มีคนพิการที่ไม่ได้รับการศึกษาถึงร้อยละ 34.34 ในขณะที่คนพิการที่ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษามีเพียงร้อยละ 5.6 และ 0.68 ตามลำดับเท่านั้น (แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ 3, 2550: 4)
ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนพิการเองก็ถือเป็นทรัพยากรบุคคลของสังคม หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ย่อมมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเอง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รวมทั้งการช่วยสร้างสรรค์สังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป (อนุ เหมือนอินทร์, 2550: 1) เพียงแต่การพัฒนาคนพิการ เพื่อให้สามารถพึ่งตนเอง ดำรงชีวิตอยู่ในสังคม และทำประโยชน์ให้กับสังคม ประเทศชาติได้เต็มศักยภาพนั้น ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของคนพิการแต่ละวัย แต่ละประเภท และแต่ละบุคคล
การจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มุ่งเน้นโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน ทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยยึดหลักการศึกษาเพื่อปวงชนที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 49 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิและการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับบุคคลอื่น และมาตรา 54 บุคคลซึ่งพิการหรือทุพพลภาพ มีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ และความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ
นอกจากนี้ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 10 วรรค 2 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ว่า การจัดการศึกษาสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพ หรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้ หรือไม่มีผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2542 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศนโยบายปีการศึกษาเพื่อคนพิการขึ้นโดยมีคำขวัญว่า "คนพิการทุกคนที่อยากเรียนต้องได้เรียน" รวมทั้งได้มีการจัดระบบโครงสร้างการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ เพื่อขยายโอกาสให้กับคนพิการทุกกลุ่ม ทุกประเภท และปรับปรุงระบบการบริหารจัดการศึกษาเพื่อคนพิการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการเรียนร่วมในทุกสังกัดและทุกระดับการศึกษาทั้งในสถานศึกษาของภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสนับสนุนให้คนพิการได้รับสื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการและความช่วยเหลืออื่นทางการศึกษา
หลักการที่สำคัญ คือ หลักความเสมอภาคที่บุคคลผู้พิการพึงมี พึงได้รับซึ่งสิทธิและประโยชน์จากสังคม เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาตนเองให้เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมต่อไป การจัดการศึกษาเพื่อคนพิการนั้นยืนยันหลักการให้บูรณาการเด็กพิการเข้าสู้ระบบการศึกษาปกติ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่เด็กด้านต่างๆ นอกจากสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษา ปัจจัยเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานของการบรรลุถึงสองคมแห่งความเท่าเทียม ต้องเริ่มจากการปฏิบัติที่ไม่เลือกปฏิบัติ เพราะจะเป็นผลให้เกิดความเท่าเทียมกันของคนในสังคม (ศรีศักดิ์ ไทยอารี และคณะ, 2542 : 112)
ในปัจจุบันการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ มุ่งจัดในลักษณะการจัดการศึกษาแบบเรียนรวม (Inclusive Education) ซึ่งหมายถึง การจัดการศึกษาให้กับเด็กทุกคนในระบบการศึกษาเดียว โดยไม่แยกว่าเด็กพิการต้องไปเรียนในสถานศึกษาเฉพาะทาง รวมทั้งเด็กพิการต้องได้รับการสนับสนุนทุกด้าน ทั้งด้านการแพทย์ วิชาการ สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก บริการ และความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา โรงเรียนต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตร ยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการ เทคนิคการเรียนการสอน สถานที่ ฯลฯ รวมทั้งจัดบุคลากรสนับสนุน ทั้งนี้เพื่อให้เด็กพิการได้เรียนรวมในสถานศึกษาเดียวกัน (เบญจา ชลธาร์นนท์, 2542)
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ.2551 มาตรา 8 ได้กำหนดให้สถานศึกษาในทุกสังกัดจัดสภาพแวดล้อม ระบบสนับสนุนการเรียน การสอน ตลอดจนบริการเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทางการศึกษา ที่คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้ และได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการจัดการการเรียนรู้ของผู้พิการ โดยส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาที่มีนักศึกษาพิการเข้าศึกษา ให้จัดทำระบบนำร่องงานDSS/AuSS (Disability Support Service/Autism Support Service) ภายในสถาบันโดยให้การสนับสนุนงบประมาณและอัตรากำลัง ให้สถาบันอุดมศึกษาจัดหาและปรับปรุงเทคโนโลยี สื่อ สิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งจำเป็นต่าง ๆ และความช่วยเหลืออื่นใดที่เอื้อต่อการศึกษาของนักศึกษาพิการ เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นยุทธศาสตร์หลักของสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา คือ การสร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้พิการ พัฒนาองค์ความรู้ และส่งเสริมการมีงานทำของผู้พิการสู่ทุกภาคส่วนของสังคม