สรุปความจาก Spratt, Kai. (2009) Policy Implementation Barriers Analysis: Conceptual Framework and Pilot Test in Three Countries.
Spratt กล่าวถึง ความสำคัญของการศึกษาเกี่ยวกับอุปสรรคของนโยบายที่สัมพันธ์กับการนำนโยบายไปปฏิบัติ และการพัฒนาแนวคิดตลอดจนมาตรการเพื่อใช้ในการประเมินและลดทอนอุปสรรคต่างๆ ลง เนื่องจากการศึกษาที่ผ่านมายังขาดข้อมูลเชิงประจักษ์ที่จะทำให้เกิดความเข้าใจที่เพียงพอในการก้าวข้ามอุปสรรค ความล่าช้า และการขาดแรงจูงใจที่เหมาะสมในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยปัจจัยที่ Spratt เห็นว่ามีความสำคัญต่อความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติ ได้แก่
• ความขัดแย้งและการคาบเกี่ยวระหว่างนโยบาย (Conflicting/intersecting policies) จากการที่นโยบายระดับชาติมักจะถูกกำหนดไว้อย่างกว้างๆนั้น อาจจะไม่สอดรับกับนโยบายในระดับท้องถิ่นหรือไม่ได้รับการสนับสนุนเมื่อมีการนำไปปฏิบัติ
• ระดับแรงจูงใจและความผูกพัน ( Low motivation and commitment) ผลลัพธ์ของกระวยนการนำนโยบายไปปฏิบัติไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยนำเข้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับบุคลิกลักษณะของตัวผู้ปฏิบัติด้วย ไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจและความผูกพันของบุคลากร องค์การ หรือสถาบัน ซึ่งต่างเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนต่อกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าราชการในระดับปฏิบัติการนั้นมีบทบาทแฝงในการเรียกร้องหรือปฏิเสธโครงการต่างๆของนโยบายได้ ทั้งนี้มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อให้แรงจูงใจของผู้เกี่ยวของลดต่ำลงได้ อาทิ การรับรู้ถึงความสำคัญของปัญหา การจัดลำดับความสำคัญที่แตกต่างกัน การขาดสิ่งจูงใจที่เพียงพอและเหมาะสม รวมทั้งการมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร เป็นต้น
• การปฏิบัติงานในหลายระดับ (Implementation at multiple levels) การนำนโยบายไปปฏิบัติในบางระดับมักจะมีการต่อต้านจากสังคม หรือการไม่มีส่วนร่วมจากสังคมเท่าที่ควร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้น สามารถลดทอนอุปสรรคในส่วนนี้ลงได้ และยังช่วยเพิ่มความผูกพันกับนโยบาย และความเข้าใจในบทบาทของแต่ละฝ่ายระหว่างการนำนโยบายไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี
• การเลือกปฏิบัติ และเพศสภาพ (Stigma, discrimination, and gender) ประเด็นดังกล่าวนี้ มักจะไม่มีการระบุในช่วงของการพัฒนานโยบายเท่าใดนัก แม้ว่าประเด็นเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
• การก่อรูปนโยบายกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ (Policy formulation versus implementation) การคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างการก่อรูปนโยบายกับการนำนโยบายไปปฏิบัติ จำเป็นต้องมีการระบุให้ชัดเจนเพื่อให้นโยบายเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
นอกจากนี้ Spratt ยังกล่าวถึง ปัญหาในการนำนโยบายไปปฏิบัติอีกประการว่า ตัวแสดงในกระบวนการนโยบายมักจะรู้ถึงบทบาทองค์การของตนเป็นอย่างดี แต่มักจะไม่เห็นภาพรวมของการดำเนินงานที่บางครั้งจำเป็นต้องสัมพันธ์กับหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งยังมีผลให้บุคคลเพียงคนเดียวหรือองค์การเดียวไม่สามารถที่จะระบุได้อย่างถูกต้องหรือครบถ้วนว่า อุปสรรคสำคัญของการนำนโยบายไปปฏิบัติเกิดขึ้น ณ จุดใด ดังนั้นการร่วมมือและการประสานงานระหว่างองค์การจึงมีความสำคัญต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติด้วยเช่นกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น