วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

บทบาทของข้าราชการระดับล่าง

1. สรุปความจาก Marcia K. Meyers and Susan Vorsanger. (2003) Street-Level Bureaucrats and the Implementation of Public Policy.


             งานของ Meyers และ Vorsanger กล่าวถึง บทบาทและความสำคัญที่ข้าราชการระดับปฏิบัติการ (Street-Level Bureaucrats) มีต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ ตลอดจนการกำกับดูแล การควบคุมและแรงจูงใจของข้าราชการระดับปฏิบัติการ โดย Meyers และ Vorsanger เห็นว่า การศึกษาเกี่ยวกับการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ผ่านมา ข้าราชการระดับปฏิบัติมักจะถูกมองว่า เป็นกลุ่มที่ไร้อำนาจ หรือมีอำนาจน้อยมากในการตัดสินใจต่างๆ หรือถูกมองว่าเป็นข้าราชการที่ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน ทั้งที่ในทางปฏิบัติข้าราชการกลุ่มนี้ ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย ทั้งการเลือกวิธีปฏิบัติ การแทรกแซงและการจัดสรรผลประโยชน์ตามนโยบายแก่ประชาชน และหลายครั้งที่ข้าราชการกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการปรับนโยบายไปสู่การปฏิบัติจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

            โดยประเด็นเกี่ยวกับข้าราชการระดับปฏิบัติการที่ Meyers และ Vorsanger เห็นว่า มีความสำคัญต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ คือ ระดับความเป็นอิสระในการปฏิบัติงานและการตัดสินใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับมิติของการกำกับดูแล และการควบคุม ในขณะที่ระดับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมดุลระหว่างผู้ปฏิบัติกับผู้บังคับบัญชา ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่อาจจะส่งผลให้ข้าราชการระดับปฏิบัติการนี้อยู่นอกเหนือการควบคุมที่เป็นทางการได้ ซึ่งหน่วยงานอาจจะทำการกำกับดูแลข้าราชการระดับปฏิบัติการนี้ผ่านทางกฎระเบียบที่เป็นทางการ, การให้สิ่งจูงใจแก่ผู้ปฏิบัติ หรือการควบคุมทรัพยากรที่จัดสรรให้แก่ข้าราชการ ซึ่งจุดนี้จะมีผลต่อระดับความเป็นอิสระในการตัดสินใจของข้าราชการได้อีกทางหนึ่ง

             อีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติของข้าราชการระดับปฏิบัติการ คือ อุดมคติ ความคิด และค่านิยมของข้าราชการที่มีต่อสภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน ภาระงาน และการสนับสนุนที่เพียงพอ มิติดังกล่าวนี้ จะมีผลต่อการยอมรับหรือการต่อต้านนโยบายใหม่ๆ และเมื่อมีการนำนโยบายไปปฏิบัติก็อาจจะส่งผลให้ตัวเป้าหมายของนโยบายถูกบิดเบือนหรือหันไปยึดถือเป้าหมายอื่นแทน ในกรณีที่เป้าหมายนั้นไม่ตรงกับความคิด ความเชื่อของตัวข้าราชการ

             สำหรับประการสุดท้ายที่ส่งผลต่อกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติก็คือ ระดับความร่วมมือระหว่างผู้กำหนดนโยบาย, ผู้ปฏิบัติและผู้รับบริการ ซึ่งกลุ่มคนในแต่ละกลุ่มนี้มักจะจัดลำดับความสำคัญในเป้าหมายหรือตัวนโยบายที่แตกต่างกัน ดังนั้น การตระหนักถึงความแตกต่างดังกล่าวนี้ จะช่วยให้การนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นไปด้วยความราบรื่นมากขึ้น

2. สรุปความจาก Street-level bureaucracy: the critical role of street-level bureaucrats ของ Michael Lipsky


              Lipsky กล่าวถึง ข้าราชการระดับปฏิบัติการ (street- level bureaucrats) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะในหลากหลายมิติ โดยการนำนโยบายไปปฏิบัติ หรือการส่งสินค้าและบริการไปสู่ผู้รับบริการในหลายกรณี ข้าราชการเหล่านี้ ถือเป็นผู้ให้บริการสาธารณะที่มีปฏิสัมพันธ์กับพลเมืองโดยตรง และมีบทบาทในการใช้ดุลยพินิจ การควบคุมและจัดสรรทรัพยากรขององค์การสาธารณะที่จะให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นศูนย์กลางในการตัดสินใจนโยบายได้เช่นกัน ซึ่งการตัดสินใจและการปฏิบัติของข้าราชการระดับปฏิบัติการนี้ มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต การจัดสรรประโยชน์หรือการจำกัดโอกาสที่ประชาชนจะได้รับจากนโยบาย

            นอกจากนี้ ข้าราชการระดับปฏิบัติการ ยังถือเป็นตัวแทนความคาดหวังของพลเมืองในด้านความยุติธรรมและความมีประสิทธิภาพของรัฐบาล แม้ว่าจะอยู่ในตำแหน่งที่มีข้อจำกัดในการแทรกแซงหรือการมีอำนาจตัดสินใจที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม การที่ข้าราชการระดับปฏิบัติการนี้ มีส่วนในการดึงทรัพยากรสาธารณะเป็นไปจำนวนมาก จึงส่งผลให้เกิดความจำเป็นในการสร้างสมดุลระหว่างการจัดบริการสาธารณะกับภาระค่าใช้จ่ายของรัฐด้วยเช่นกัน

ไม่มีความคิดเห็น: