วันเสาร์ที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2555

องค์ประกอบสำคัญใน Atlas.ti

Hermeneutic Unit


Hermeneutic Unit เป็นหน่วยที่ใช้แทนโครงการวิจัย ซึ่งภายในหนึ่งโครงการวิจัยนั้นจะประกอบไปด้วยอ็อบเจ็กต์ย่อย ๆ หลายชนิด หากเปรียบเทียบกับการวิเคราะห์ข้อมูลเขิงคุณภาพแบบเดิมนั้นจะเปรียบได้กับกล่องเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพทั้งหมดของโครงการวิจัย เช่น เอกสารโครงการวิจัย รูปภาพ เทปบันทึก รวมทั้งข้อมูลเพิ่มเติมต่างๆ ที่ผู้ใช้สร้างไม่ว่าจะเป็น Quotation, Codes, Memos ซึ่งไฟล์โครงงาน HU นี้จะมีนามสกุล (.hpr)


Primary Documents (PD)


Primary Documents เป็นชื่อที่เรียกไฟล์ข้อมูลที่จะนำมาวิเคราะห์ในโปรแกรม ซึ่งเป็นส่วนประกอบหนึ่งของ Hermeneutic Unit สำหรับไฟล์ที่สามารถนำเข้ามาใช้ใน ATLAS/ti ได้แก่ ไฟล์ข้อมูลแบบข้อความที่ลงท้ายด้วยนามสกุล .txt, .rtf, .doc รูปภาพที่ลงท้ายด้วยนามสกุล .bmp, jpg, jpeg, TIFF, png ฯลฯ หรือไฟล์เสียงที่ลงท้ายด้วยนามสกุล .wav, .mp3 เมื่อกำหนดว่าในไฟล์ข้อมูล HU จะประกอบด้วยไฟล์ PD อะไรบ้างแล้ว แต่ละไฟล์ PD จะมีหมายเลขลำดับกำกับไว้แล้วตามด้วยชื่อไฟล์ ตัวอย่างเช่น “P1: สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน.txt” หมายถึง ไฟล์ที่กำหนดเป็นไฟล์ข้อมูลที่ 1 ในไฟล์ HU ชื่อว่า “ สัมภาษณ์ผู้ใหญ่บ้าน.txt”

Quotations

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพส่วนใหญ่เป็นกระบวนการลงรหัส (Coding) ซึ่งเป็นกระบวนการที่ข้อมูลถูกซอยย่อยออกเป็นส่วนๆ ที่มีความสำคัญ และนำมาตีความและทำความเข้าใจ เพื่อนำเอาข้อมูลที่ถูกแบ่งย่อยมาประกอบขึ้นในรูปแบบใหม่ตามการตีความของผู้วิจัย (Pandit. 1996; citing Staruss & Corbin. 1990: 57) ข้อมูลที่ถูกซอยออกเป็นส่วนย่อยนี้ ATLAS/ti จะแทนด้วยอ็อบเจ็กต์หรือหน่วยที่เรียกว่าQuotations ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของข้อมูล ถ้าข้อมูลเป็นแบบข้อความ Quotations ก็เปรียบเหมือนข้อความสำคัญที่ขีดเส้นใต้หรือเน้นข้อความในเอกสารหรือหนังสือเป็นการสกัดเอาเฉพาะส่วนที่สำคัญที่มีความหมายต่อการตีความออกจากข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

Code

เมื่อผู้วิจัยทอนข้อมูลออกเป็นส่วนย่อยเพื่อดึงเอามาใช้ตีความเฉพาะส่วนที่สำคัญแล้ว Code จะเป็นเครื่องมือที่ผู้วิจัยใช้จัดหมวดหมู่ข้อความสำคัญหรือ Quotations ว่า Quotations ใดบ้างควรจัดไว้ในกลุ่มเดียวกันด้วยการนำมาอ่านตีความและเปรียบเทียบ (Constant Comparison) Quotations ที่สะท้อนถึงแนวความคิดหรือมโนทัศน์เดียวกันก็จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันแล้วตั้งชื่อกำกับไว้ กลุ่มของ Quotations ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันหรือสะท้อนถึงมโนทัศน์เดียวกันนี้ก็คือ Codes

ผู้ใช้สามารถสร้าง Codes ที่ไม่ผูกติดกับข้อความหรือรหัสใดๆ (Free Codes) หรือจะสร้าง Codes เชื่อมโยงกับ Quotations ซึ่งจะเปรียบเทียบได้กับกระบวนการลงรหัส หรือจะ นำ Codes ไปเชื่อมโยงกับ Memos หรือกับตัวมันเองเพื่อบ่งบอกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะต่างๆ

Memos

Memos คือ บันทึกที่ผู้วิจัยจดไว้ ซึ่งอาจจะจดไว้เพื่อกันลืม เพื่อใช้เป็นรายละเอียดอธิบายบางสิ่งบางอย่าง หรือเพื่อบันทึกความคิดที่ปรากฎขึ้นในขณะที่อ่านตีความข้อมูลแต่ยังไม่มีความชัดเจนพอที่จะลงรหัสให้เป็น Codes ได้ จึงทำการจดบันทึกไว้ก่อนเพื่อนำมาใช้พิจารณาในคราวต่อไป ใน ATLAS.ti ผู้ใช้สามารถสร้าง Memos ที่ไม่ผูกติดกับข้อความหรือรหัสใดใด (Free Memos) หรือจะสร้าง Memos เชื่อมโยงกับ Quotations หรือ Codes ก็ได้


Families


Families เป็นหน่วยที่ใช้แทนกลุ่มของ Primary Document, Codes และ Memos ประโยชน์ของการใช้งานก็คือ การจัดกลุ่มของอ็อบเจ็กต์ที่เป็นประเภทเดียวกัน เพื่อลดความซับซ้อนและเพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจ เช่น ถ้าโครงการวิจัยหนึ่งมีการสัมภาษณ์คนจำนวนมาก หมู่บ้านหนึ่งสัมภาษณ์ 10 คน รวมทั้งหมด 10 หมู่บ้าน ก็จะมีผู้ถูกสัมภาษณ์ 100 คน เมื่อถอดเทปพิมพ์เป็นไฟล์ข้อความแล้วจะได้ทั้งหมด 100 ไฟล์ ดังนั้น Primary Document ที่แสดงไว้ในกรอบให้เลือกจะมีทั้งหมด 100 ชื่อ ซึ่งจะทำให้เวลาเลือกหรือหาชื่อนั้นต้องเสียเวลาพอสมควร ผู้วิจัยสามารถใช้ Families จัดกลุ่ม PD เฉพาะหมู่บ้านที่กำลังวิเคราะห์ข้อมูลอยู่ ก็จะสะดวกและรวดเร็วขึ้น หรือผู้วิจัยอาจต้องการจัดกลุ่ม Codes ออกเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มที่แสดงถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับสื่อมวลชน กลุ่มที่แสดงถึงมโนทัศน์เกี่ยวกับสื่อบุคคล หรือในกรณี Memos ในกลุ่มที่เกี่ยวกับทฤษฎี (Theoretical Memos)ในกลุ่มที่เกี่ยวกับวิธีการ (Method Memos)

Networks

เป็นหน่วยที่ใช้แทนความสัมพันธ์ระหว่างอ็อบเจ็กต์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของโครงการวิจัย (HU) ในกรณีที่ผู้ใช้ต้องการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการลงเป็นรหัสหรือ Codes ต่างๆ ซึ่งในโปรแกรม ATLAS/ti ผู้ใช้สามารถสร้างและเรียกดูความสัมพันธ์ รวมทั้งแก้ไขความสัมพันธ์ได้ โดยผ่านทาง Networks Views ที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถนำเอา Primary Document, Quotations, Codes และ Memos เข้ามาวาดเป็นแผนภาพความสัมพันธ์ว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไรได้ สิ่งที่นำเข้ามาเพื่อจะวาดแผนผังนั้นเรียกว่า Nodes และความสัมพันธ์ระหว่างแต่ละ Nodes เรียกว่า Relations


ไม่มีความคิดเห็น: