วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เรียนอย่างไรให้เก่ง โดย ผศ. ดร.สมวงษ์ แปลงประสพโชค

การเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน
หลักการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนหนังสือ 6 ประการ ซึ่งมีผู้นำไปปฏิบัติแล้วได้ผลดี มีดังนี้
1. สะสม (Gradual) เรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะสมวันละนิด ไม่ใช่หักโหมก่อนสอบ
2. ทำซ้ำ (repetition) ทบทวน ท่อง และทำแบบฝึกหัดซ้ำๆ
3. ย้ำรางวัล (Reinforcement) ควรให้รางวัลตัวเองเมื่อ ทำงานสำเร็จในแต่ละครั้ง เพื่อให้ขยันขึ้น
4. ขยันคิด (Active Learning) จงใส่ใจ คิดตามเสมอ อย่าฟังหรืออ่านไปเรื่อยๆ
5. ฟิตปฏิบัติ (Practice) ต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ ไม่ใช่รู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียว การลงมือปฏิบัติจริงจะทำให้จำแม่นยำเกิดการถ่ายโยงความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว
6. หาทางบังคับตัวเอง (Stimulus Control) โดยอาศัยการจัดสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเร่งและกระตุ้น
จากหลักการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน 6 ประการดังกล่าว ถ้าเราปฏิบัติตนให้ถูกวิธี เราจะประสบผลสำเร็จ มีผู้เสนอข้อปฏิบัติตนที่ดีไว้มากมายต่อไปนี้ เป็นข้อปฏิบัติตนที่ได้คัดเลือกให้ท่านลองนำไปปฏิบัติดูเพียง 5 ข้อ

ข้อปฏิบัติตนของการเป็นผู้เรียนที่ดี
1. เวลาฟังอาจารย์สอนหรืออ่าน ต้องคิดตาม ถาม จด ตลอดเวลา ถ้าไม่เข้าใจควรจดคำถามไว้เพื่อคิดค้นคว้า หรือถามผู้รู้ต่อไป
2. หามุมที่ใช้เป็นที่ดูหนังสือหรือทำการบ้านที่จะทำให้มีประสิทธิภาพ
3. จัดเวลาสำหรับทบทวนสิ่งที่เรียนมา หรืออ่านล่วงหน้าสิ่งที่จะเรียนต่อไป และถ้าปฏิบัติตามที่กำหนดได้ ควรให้รางวัลตัวเอง เช่น ได้ขนม ได้เล่น ได้ฟังเพลง ดูทีวี ได้ออกกำลัง เป็นต้น ถ้าทำไม่ได้ตามกำหนดควรหาเวลาชดเชย
4. ท่องหนังสือกับเพื่อน อย่าหวงวิชา แบ่งปันความรู้อธิบายให้กันและกัน อย่าช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด เช่น ทุจริตเวลาสอบ หรือให้ลอกงานโดยไม่เข้าใจ
5. ฝึกศึกษาด้วยตนเอง มิใช่ต้องเรียนจากครูเพียงอย่างเดียว การศึกษาด้วยตนเองต้องใช้สมาธิมาก ต้องทำความเข้าใจ จดสาระสำคัญต่างๆ ลงในโน้ตย่อ จดสิ่งที่ไม่เข้าใจไว้ค้นคว้าต่อไป
ขอให้ท่านลองปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้ โปรดสำรวจตัวท่านเองทุกสัปดาห์ว่า ท่านยังขาดข้อใดบ้าง พยายามปรับปรุงทำให้ได้ ต้องอดทน แม้ว่าจะเป็นนิสัยเดิมก็ตาม ถ้าท่านทำได้ รับรองว่า ท่านจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียนคนหนึ่งแน่นอน
หากท่านยังไม่สามารถปฏิบัติตนดังกล่าวได้ ท่านต้องหาสาเหตุอื่นๆอีก เช่น
ท่านขาดแรงจูงใจในการเรียนหรือไม่
เวลาทำ ใจไม่จดจ่อ (ขาดสมาธิ) ใช่หรือไม่
อ่านเท่าไรก็ไม่จำ (อ่านไม่เป็น) ใช่หรือไม่
คิดเท่าไรก็ไม่ออก ใช่หรือไม่
ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวท่านแล้ว ท่านจะต้องหาทางแก้ไข และฝึกฝนตนเองในจุดที่ท่านบกพร่อง เช่น ในด้านความจำ เป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องทำความเข้าใจก่อนแล้วจำ

ทำอย่างไรเราจะจำดี
จากการศึกษาของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับการจำการลืมของมนุษย์พบว่า คนเรามีอัตราการจำหรือลืม ดังนี้
เมื่อเวลาผ่านไป หนึ่งวัน คนเราจะจำเรื่องราวที่ตนอ่านไป ได้ประมาณ 50 % และลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งทุกๆ 7 วัน จนในที่สุด จะนึกไม่ออกเลยเมื่อผ่านไป 21 วัน
ทางแก้การลืมความรู้ ก็คือ ไปทบทวนทันทีที่เราเรียนในแต่ละวัน เพื่อมิให้เกิน 24 ชั่วโมง จากนั้นเราทิ้งช่วงไปทบทวนรวบยอดในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ เพื่อมิให้เกิน 7 วัน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะทบทวนสิ่งที่เรียนมาทั้งสัปดาห์ เนื่องจากแต่ละวัน ความรู้จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ เราควรทำโน้ตย่อและทบทวนจากโน้ตย่อสาระสำคัญ จะช่วยให้เราเสียเวลาทบทวนน้อยลง

ไม่มีความคิดเห็น: