วันพฤหัสบดีที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2550

ทำโฟลเดอร์นี้ให้พิเศษ...ด้วยภาพBackground

1. เปิด Notepad ขึ้นมา คัดลอกข้อความด้านล้างไป และทำการบันทึกเก็บไว้ในโฟลเดอร์ที่เราต้องการเปลี่ยนพื้นหลังสีขาวให้สวยงาม...ในชื่อ Desktop.INI

[ExtShellFolderViews]
{BE098140-A513-11D0-A3A4-00C04FD706EC}={BE098140-A513-11D0-A3A4-00C04FD706EC}

[{BE098140-A513-11D0-A3A4-00C04FD706EC}]
IconArea_Image=H:\MyDir\พื้นหลัง.jpg
IconArea_Text=0xff00ff

[.ShellClassInfo]
ConfirmFileOp = 0
IconIndex = 0
IconFile = H:\MyDir\ไอคอนฉัน.ICO
InfoTip = แถบเหลืองแนะนำโฟลเดอร์...อยากบอกอะไรกรอกลงไปเลย

2. ระบุที่อยู่ของภาพที่คำสั่ง IconArea_Image ให้ถูกต้อง ถ้าจะให้ง่ายคลิ๊กขวาที่ภาพ Send to...Desktop(Create Shotcut) คลิ๊กขวาซ็อทคัดที่ Desktop คัดลอกที่อยู่ไฟล์ใน Target: และนำมาวางในคำสั่งนี้

3. กำหนดสีที่ IconArea_Text ได้ 65535 สี...มีหลักดังนี้ค่าสี 0x น้ำเงิน เขียว แดง (0x.B.G.R) มาผสมกันจาก 00 ถึง FFเช่น
0xFF0000 คือ น้ำเงินล้วน
0x00FF00 คือ เขียวล้วน
0x0000FF คือ แดงล้วน0x123456 คือ น้ำเงิน 12 เขียว 34 และแดง 56

4. กำหนดที่อยู่ของ Icon ให้ถูก โดยจะต้องเป็นไฟล์ .ICO เท่านั้นทำวิธีเดียวกันกับข้อ 2 (ถ้าหากหาไฟล์ .ICO ไม่ได้ ก็ไม่ต้องใส่...ให้ลบบรรทัด [.ShellClassInfo] ไปจนสุดไฟล์ทิ้งให้หมด)

5. เติมคำอธิบาย InfoTip เมื่อมีเมาส์มาวางที่โฟลเดอร์....(ตามใจชอบเลย)

6. พิมพ์คำสั่งพิเศษ...(กุญแจลับ เพราะลองกำหนดคุณสมบัตินี้บนวินโดวส์แล้ว...ทำไม่ได้) ที่ Start...Runattrib +r ที่อยู่ของโฟลเดอร์ที่เราจะกำหนดรูปแบบ เช่นattrib +r H:\MyDir

7. แนะนำนิดนึง...คือถ้า รูปภาพ ไอคอน และ Desktop.INI อยู่ในโฟลเดอร์พิเศษเลยจะดีมาก...และก็ทำการ Hiden มันโดยครอบทั้งหมดและคลิ๊กขวาProperties...Hiden

นำมาจากข้อเขียนของคุณแคทอาย (ปฐมเชทย์)

วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550

ฝ่าด่าน 10 คำถามโหด สัมภาษณ์งาน


เคยไหมที่รู้สึกตื่นเต้น ประหม่า และกลัวแบบไม่มีสาเหตุเมื่อถึงเวลาสัมภาษณ์งาน แถมบ่อยครั้งที่เจอคำถามง่ายๆ แต่ไม่รู้จะตอบอย่างไร

หลักในการตอบคำถามสัมภาษณ์ ควรตอบให้ตรงประเด็น กระชับ ได้ใจความ มีความคิดสร้างสรรค์รวมถึงยกตัวอย่างเพื่อให้คำตอบชัดเจนยิ่งขึ้น ที่สำคัญข้อมูลต้องถูกต้องและเป็นความจริง ซึ่งโดยทั่วไปการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่จะใช้เวลาตั้งแต่ 20 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และตำแหน่งงานของผู้สมัคร นอกจากการเตรียมตัวตอบคำถาม ควรให้ความสำคัญเรื่องการแต่งกายและความตรงต่อเวลาด้วย

นี่คือสิบคำถามโหดที่ต้องผ่านไปให้ได้ ลองอ่านคำแนะนำในการผ่านด่านอรหันต์เป็นแนวทาง แล้วนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับรูปแบบการสัมภาษณ์ของตัวเอง อย่าลืมว่า 10 คำถามนี้ไม่มีคำตอบใดที่ถูกหรือผิด เพราะล้วนแต่เป็นคำถามที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ ทัศนคติต่างๆ เกี่ยวกับงาน ที่จะบ่งบอกความฉลาดในตัวคุณ

ที่สำคัญ หากมีการเตรียมพร้อมและซ้อมมากเท่าไหร่ ความมั่นใจก็มากขึ้นเท่านั้น เหมือนอย่างที่สามก๊กกล่าวไว้ว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง

1. ช่วยเล่าเกี่ยวกับตัวคุณให้เราฟัง

Do
ใช้เวลาเพียง 2-3 นาทีสั้นๆ แบบกระชับได้ใจความ บอกเหตุผลที่ว่าทำไมเราจึงเป็นผู้สมัครที่ดีที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้ รวมถึงยกตัวอย่างให้ฟังเพื่อช่วยอธิบายและเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเรา

เช่น "หลังจากเรียนจบด้านบัญชีและทำงานที่บริษัทตรวจสอบบัญชีมา 5 ปี ทำให้เป็นคนทำงานเร็วและละเอียดรอบคอบ เพราะการตรวจสอบบัญชีแต่ละครั้งมีระยะเวลากำหนดชัดเจนว่ากี่วันหรือกี่สัปดาห์ ทั้งยังฝึกความเป็นผู้นำ เพราะต้องดูแลน้องในทีมที่ออกตรวจงานด้วยกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี สิ่งเหล่านี้ทำให้ดิฉันได้รับมอบหมายดูแลงานโปรเจคใหญ่ๆ อยู่เสมอ"

Don't
การเล่าทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวเอง ตั้งแต่จบประถม มัธยม เข้ามหาลัย จนทำงาน แต่ไม่มีจุดเด่นอะไรเพียงพอที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์รู้สึกสนใจในตัวคุณ

2. ทำไมคุณถึงคิดว่าเหมาะกับงานนี้

Do
โอกาสมาถึงแล้ว อย่ากลัวที่จะพูด อาจจะเริ่มจากประสบการณ์และความสามารถที่เคยผ่านมา อันเป็นสาเหตุทำให้คุณเหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้ แล้วต่อด้วยเหตุผล ตัวอย่าง กรณีศึกษา สิ่งที่เป็นจุดเด่นและแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่น

กรณีที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ ถ้าสมัยเรียนทำกิจกรรมมาเยอะ เช่น ออกค่าย ฝึกงาน โครงการนักเรียนแลกเปลี่ยน ฯลฯ อย่าลังเลที่จะบอกเล่าว่ากิจกรรมเหล่านั้น ทำให้ตัวเองเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นง่าย รู้จักปรับตัว ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น และเรียนรู้เร็ว เป็นต้น

หากตกที่นั่งเด็กเรียน ไม่ค่อยสนใจกิจกรรม ให้ตอบว่าเป็นคนที่ทุ่มเทกับเรื่องที่ได้รับผิดชอบ เช่น เรื่องเรียนหรือรายงานกลุ่ม อาจยกเกรดเฉลี่ยเลขสวยๆ มาเป็นตัวอย่าง หรือวิธีการเลือกวิชาเรียน ที่แสดงให้เห็นว่ามีการเตรียมตัว วางแผนการเรียนมาเป็นอย่างดี

Don't
การตอบคำถามสั้นๆ เช่น "ด้วยประสบการณ์ทำงาน 2 ปีที่ผ่านมา ผมเชื่อว่าสามารถทำงานนี้ได้" แล้วจบทันที ในกรณีนี้ คุณอาจจบเห่ เพราะไม่มีเหตุผลและตัวอย่างที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์เชื่อและมั่นใจในตัวคุณ

3. ตามความเข้าใจของคุณ คิดว่าตำแหน่งนี้ต้องรับผิดชอบงานอะไรบ้าง

Do
ทำการบ้านก่อนมาสัมภาษณ์ด้วยการอ่านรายละเอียดของงานและคุณสมบัติของผู้สมัครที่ทางบริษัทต้องการ ทำความเข้าใจกับมัน ตอบให้สั้นและกระชับใจความ สิ่งสำคัญก่อนตอบต้องมั่นใจว่าเข้าใจ ถ้าไม่แน่ใจส่วนไหนไม่ต้องกลัวที่จะถาม อาจตั้งคำถามกลับในทำนองว่า เข้าใจตำแหน่งงาน แต่ไม่แน่ใจเกี่ยวกับข้อมูลกลุ่มลูกค้า และผลิตภัณฑ์มากนัก อยากให้ช่วยอธิบายให้เข้าใจในเบื้องต้น

Don't
ถ้าไม่รู้ อย่าพยายามตอบ เพราะถ้าตอบผิด นั่นหมายความว่าคุณไม่ได้ทำการบ้านมา ไม่ได้ให้ความสนใจกับงานนี้ แถมยังมั่วอีกต่างหาก

ผ่าน 3 ด่านอรหันต์มาได้ ที่เหลือไม่น่ายากเกินความสามารถ

4. คุณรู้อะไรเกี่ยวกับบริษัทเราบ้าง

Do
ก่อนมาสัมภาษณ์งาน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทราบและเข้าใจข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับองค์กรที่สมัคร เช่น ผลิตภัณฑ์ กลุ่มลูกค้า คู่แข่ง ภาพลักษณ์องค์กร ที่มาและประวัติขององค์กร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คุณได้ทำการบ้านมา และให้ความสนใจกับองค์กรอย่างแท้จริง อย่าลืมย้ำตอนท้ายด้วยว่า หลังจากที่ศึกษาเกี่ยวกับองค์กร ทำให้เรามีความสนใจที่อยากจะทราบเกี่ยวกับองค์กรเพิ่มเติม

Don't
การตอบแบบมั่นใจในตัวเองจนเกินไป หรือคำตอบที่สร้างภาพพจน์ไม่ดีให้กับตัวเอง เช่น "ทราบมาว่าที่นี่กำลังขาดผู้จัดการฝ่ายการตลาด ด้วยประสบการณ์งาน 3 ปีในด้านนี้ ทำให้คิดว่าสามารถแก้ปัญหานี้ได้" คำตอบอย่างนี้นอกจากไม่สร้างทัศนคติที่ดีขององค์กรให้กับตัวเองแล้ว ยังเป็นการโอ้อวดตัวเองเกินไป

5. อะไรคือจุดมุ่งหมายระยะยาวในการทำงานของคุณ

Do
พูดถึงสิ่งที่อยากทำในอนาคต และต้องบอกวิธีที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ ซึ่งควรจะเกี่ยวข้องกับงานที่สัมภาษณ์อยู่ เช่น อีก 5 ปีข้างหน้าอยากเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดที่เต็มไปด้วยศักยภาพและความสามารถในการพัฒนาพนักงานและองค์กรให้มีประสิทธิภาพ การที่จะถึงจุดนั้นได้ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี เช่น การได้มีโอกาสทำงานที่บริษัทนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งในการเตรียมตัวสำหรับอนาคต และอาจเพิ่มเติมตัวอย่าง เช่น วิธีการทำงานของตน เป็นต้น

Don't
การตอบในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่สมัครอยู่ (ถึงแม้จะเป็นความจริง) เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เช่น อยากเปิดร้านอาหารในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าตอบเช่นนั้น อาจโดนถามต่อว่าแล้วมาสมัครงานที่นี่ทำไม

6. ถ้าได้งานนี้ คุณคิดว่าจะทำงานที่นี่นานเท่าไหร่

Do
ให้มุ่งประเด็นไปที่ความทุ่มเทของตัวเองและความท้าทายของงาน ด้วยการบอกว่าตราบใดที่งานมีความยากและท้าทาย ก็จะขอจะทุ่มเทความสามารถของตัวเองให้เต็มที่เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับองค์กร

Don't
บอกแผนการหรือระยะเวลา (ซึ่งเป็นความจริง) เช่น มีแผนไปเรียนต่ออีก 2-3 ปีข้างหน้า หรือ ทางบ้านมีแผนให้ไปช่วยธุรกิจที่บ้าน

7. อะไรคือจุดอ่อนของคุณ

Do
ควรเลือกจุดอ่อนที่เป็นความจริงและกำลังปรับปรุงหรือพัฒนาในขณะนี้ ที่สำคัญควรบอกผลลัพธ์หลังการปรับปรุงด้วย เช่น ภาษาอังกฤษไม่แข็งแรง ซึ่งตอนนี้กำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ เรียนมานานเท่าไหร่ ที่ไหน และผลการเรียนเป็นอย่างไรบ้าง

Don't
มีหลายคนเคยบอกว่าให้เปลี่ยนจุดแข็งให้เป็นจุดอ่อน เช่น เป็นคนทำงานหนักมากๆ ไม่เสร็จไม่กลับ อาจจะฟังดูดี แต่คุณกำลังทำลายตัวเอง เพราะปัจจุบันนี้การรู้จักจัดสรรเวลา (work life balance) เป็นประเด็นสำคัญของคุณภาพชีวิต อีกอย่างคุณกำลังโกหกเพื่อให้ดูดี แถมตอบผิดประเด็นอีกต่างหาก

8. ทำไมคุณถึงลาออกจากงานเก่า

Do
ตอบความจริงให้มากที่สุด แต่สั้นกระชับใจความ ไม่จำเป็นต้องตอบทั้งหมดถ้าความจริงมันเลวร้ายเหลือเกิน อย่าลืมว่าผู้สัมภาษณ์อาจขออนุญาตติดต่อบุคคลอ้างอิงเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลเหล่านั้น

Don't
ควรหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ที่ทำงานและนายเก่า เพราะเหล่านี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของคุณดูแย่ และนั่นหมายถึงความกล้าที่จะวิจารณ์บริษัทต่อๆ ไปที่คุณร่วมงานด้วย

9. อะไรคือสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบในงานเก่า (หรืองานที่กำลังทำอยู่)

Do
ควรบอกสิ่งที่ชอบมากกว่าสิ่งที่ไม่ชอบ และให้คำอธิบายรวมถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดเช่นนั้น

Don't
บอกในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานหรืออ้างอิงถึงบุคคล เพราะนั่นหมายถึงคุณกำลังวิจารณ์คนอื่น ไม่จำเป็นต้องเล่าทุกอย่างที่แย่ๆ เกี่ยวกับงาน เพราะไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา

10. อะไรคือสิ่งที่คุณประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต

Do
ควรจะเป็นเรื่องที่รู้สึกภูมิใจที่สุดในช่วง 1-2 ปีของการทำงาน คุณอาจพูดถึงการเลื่อนขั้น ปรับตำแหน่งในการทำงาน หรือตลอดระยะเวลาที่ทำงานมามีแต่ความราบรื่นไม่เคยมีปัญหากับลูกค้า

หากคุณมีความสำเร็จชัดเจน เช่น สามารถทำยอดการขายได้ทะลุเป้า 200% หรือ สามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 25% ให้เล่าที่มาของเรื่องนั้น วิธี แนวดำเนินการ ผลลัพธ์ ตลอดจนอุปสรรคที่เกิดขึ้น รวมถึงวิธีการแก้ปัญหา

ถ้าเป็นผู้สมัครที่เพิ่งจบการศึกษาหมาดๆ อาจจะพูดถึงเกรดเฉลี่ย หรือความภาคภูมิใจที่สามารถสอบเข้ามหาลัยที่มีชื่อเสียงได้

Don't
การแต่งเรื่องขึ้นเองหรือพูดเกินจริงกว่าสิ่งที่ได้ทำ ส่งผลให้วิธีการเล่าแตกต่างไป ซึ่งผู้สัมภาษณ์ที่มีความเชี่ยวชาญ จะสามารถตั้งคำถามต้อนจนจับได้ว่าเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น

Guru Tips
*บริษัทบางแห่ง คำถามเหล่านี้จะถูกถามเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้นถ้าจะให้ดี ควรฝึกตอบทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

*ก่อนเข้าสู่ด่านอรหันต์ปราบเซียน ควรฝึกซ้อมหน้ากระจกก่อน เพื่อตรวจบุคลิกภาพ ที่สำคัญต้องมี eye contact หรือสบตาผู้สัมภาษณ์ อย่าหลบตาหรือมองเพดานเวลาสัมภาษณ์ แม้กระทั่งการนั่งเท้าคางหรือเท้าโต๊ะ ก็เป็นการทำให้คะแนนบุคลิกภาพลดลงอย่างน่าใจหาย

ทำไงดี เจอเจ้านายต่างชาติ
* บริษัทญี่ปุ่น อยากเห็นว่าที่พนักงานที่มีความนิ่ง อดทน อ่อนน้อมถ่อมตน แต่มีความมั่นใจในตัวเอง พูดจาไม่เยิ่นเย้อ สั้น กระชับ และหากสื่อสารภาษาญี่ปุ่นได้ รับรองได้เปรียบกว่าเห็นๆ

* บริษัทฝรั่ง (International Firms) ส่วนใหญ่อยากได้เด็กที่มีความมั่นใจ กล้าพูดกล้าคิด ไฟแรง ทุ่มเท แต่ก็มีชีวิตด้านอื่นด้วยนะ อย่างเช่น มีงานอดิเรกทำ มีเที่ยวเล่นบ้างแต่ก็ทำงาน อีกอย่างที่สำคัญเลย บุคลิกภาพ ต้องดูมั่นใจ ดูคล่อง ฉะฉาน พูดภาษาอังกฤษได้

ข้อมูลจาก นิตยสารสุดสัปดาห์ Column: Career Focus No.586 (1 July 2007)และเข้าไปอ่านได้ที่http://women.sanook.com/work/www/www_42587.php นะครับ

วันอาทิตย์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เรียนอย่างไรให้เก่ง โดย ผศ. ดร.สมวงษ์ แปลงประสพโชค

การเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน
หลักการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนหนังสือ 6 ประการ ซึ่งมีผู้นำไปปฏิบัติแล้วได้ผลดี มีดังนี้
1. สะสม (Gradual) เรียนอย่างค่อยเป็นค่อยไป สะสมวันละนิด ไม่ใช่หักโหมก่อนสอบ
2. ทำซ้ำ (repetition) ทบทวน ท่อง และทำแบบฝึกหัดซ้ำๆ
3. ย้ำรางวัล (Reinforcement) ควรให้รางวัลตัวเองเมื่อ ทำงานสำเร็จในแต่ละครั้ง เพื่อให้ขยันขึ้น
4. ขยันคิด (Active Learning) จงใส่ใจ คิดตามเสมอ อย่าฟังหรืออ่านไปเรื่อยๆ
5. ฟิตปฏิบัติ (Practice) ต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดความชำนาญ ไม่ใช่รู้แต่ทฤษฎีอย่างเดียว การลงมือปฏิบัติจริงจะทำให้จำแม่นยำเกิดการถ่ายโยงความจำระยะสั้นให้เป็นระยะยาว
6. หาทางบังคับตัวเอง (Stimulus Control) โดยอาศัยการจัดสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเร่งและกระตุ้น
จากหลักการเพิ่มประสิทธิภาพการเรียน 6 ประการดังกล่าว ถ้าเราปฏิบัติตนให้ถูกวิธี เราจะประสบผลสำเร็จ มีผู้เสนอข้อปฏิบัติตนที่ดีไว้มากมายต่อไปนี้ เป็นข้อปฏิบัติตนที่ได้คัดเลือกให้ท่านลองนำไปปฏิบัติดูเพียง 5 ข้อ

ข้อปฏิบัติตนของการเป็นผู้เรียนที่ดี
1. เวลาฟังอาจารย์สอนหรืออ่าน ต้องคิดตาม ถาม จด ตลอดเวลา ถ้าไม่เข้าใจควรจดคำถามไว้เพื่อคิดค้นคว้า หรือถามผู้รู้ต่อไป
2. หามุมที่ใช้เป็นที่ดูหนังสือหรือทำการบ้านที่จะทำให้มีประสิทธิภาพ
3. จัดเวลาสำหรับทบทวนสิ่งที่เรียนมา หรืออ่านล่วงหน้าสิ่งที่จะเรียนต่อไป และถ้าปฏิบัติตามที่กำหนดได้ ควรให้รางวัลตัวเอง เช่น ได้ขนม ได้เล่น ได้ฟังเพลง ดูทีวี ได้ออกกำลัง เป็นต้น ถ้าทำไม่ได้ตามกำหนดควรหาเวลาชดเชย
4. ท่องหนังสือกับเพื่อน อย่าหวงวิชา แบ่งปันความรู้อธิบายให้กันและกัน อย่าช่วยเหลือเพื่อนในทางที่ผิด เช่น ทุจริตเวลาสอบ หรือให้ลอกงานโดยไม่เข้าใจ
5. ฝึกศึกษาด้วยตนเอง มิใช่ต้องเรียนจากครูเพียงอย่างเดียว การศึกษาด้วยตนเองต้องใช้สมาธิมาก ต้องทำความเข้าใจ จดสาระสำคัญต่างๆ ลงในโน้ตย่อ จดสิ่งที่ไม่เข้าใจไว้ค้นคว้าต่อไป
ขอให้ท่านลองปฏิบัติตาม 5 ข้อนี้ โปรดสำรวจตัวท่านเองทุกสัปดาห์ว่า ท่านยังขาดข้อใดบ้าง พยายามปรับปรุงทำให้ได้ ต้องอดทน แม้ว่าจะเป็นนิสัยเดิมก็ตาม ถ้าท่านทำได้ รับรองว่า ท่านจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในการเรียนคนหนึ่งแน่นอน
หากท่านยังไม่สามารถปฏิบัติตนดังกล่าวได้ ท่านต้องหาสาเหตุอื่นๆอีก เช่น
ท่านขาดแรงจูงใจในการเรียนหรือไม่
เวลาทำ ใจไม่จดจ่อ (ขาดสมาธิ) ใช่หรือไม่
อ่านเท่าไรก็ไม่จำ (อ่านไม่เป็น) ใช่หรือไม่
คิดเท่าไรก็ไม่ออก ใช่หรือไม่
ถ้าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับตัวท่านแล้ว ท่านจะต้องหาทางแก้ไข และฝึกฝนตนเองในจุดที่ท่านบกพร่อง เช่น ในด้านความจำ เป็นสิ่งสำคัญมาก เราต้องทำความเข้าใจก่อนแล้วจำ

ทำอย่างไรเราจะจำดี
จากการศึกษาของนักจิตวิทยาเกี่ยวกับการจำการลืมของมนุษย์พบว่า คนเรามีอัตราการจำหรือลืม ดังนี้
เมื่อเวลาผ่านไป หนึ่งวัน คนเราจะจำเรื่องราวที่ตนอ่านไป ได้ประมาณ 50 % และลดลงไปอีกครึ่งหนึ่งทุกๆ 7 วัน จนในที่สุด จะนึกไม่ออกเลยเมื่อผ่านไป 21 วัน
ทางแก้การลืมความรู้ ก็คือ ไปทบทวนทันทีที่เราเรียนในแต่ละวัน เพื่อมิให้เกิน 24 ชั่วโมง จากนั้นเราทิ้งช่วงไปทบทวนรวบยอดในวันหยุด เสาร์ อาทิตย์ เพื่อมิให้เกิน 7 วัน ทุกวันหยุดสุดสัปดาห์จะทบทวนสิ่งที่เรียนมาทั้งสัปดาห์ เนื่องจากแต่ละวัน ความรู้จะพอกพูนขึ้นไปเรื่อยๆ เราควรทำโน้ตย่อและทบทวนจากโน้ตย่อสาระสำคัญ จะช่วยให้เราเสียเวลาทบทวนน้อยลง

วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ข้อผิดพลาด ๑๐ ประการในการตอบข้อสอบวิชากฎหมาย

จากการประเมินผลในการแสดงความเห็นในกระทู้ต่างๆเกี่ยวกับการตอบข้อสอบปัญหาตุ๊กตาแล้ว เห็นว่ายังมีข้อเข้าใจผิดและข้อผิดพลาด ที่รวบรวมได้ดังนี้
๑. เน้นแต่ธงคำตอบ ไม่เคยถกถามว่าข้อนี้เราต้องนำหลักกฎหมายเรื่องใดมาตอบ เราได้ตอบหลักกฎหมายเป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่
๒. เน้นว่าต้องตอบตามฎีกา โดยลืมความจริงว่าฎีกานั้นตอบปัญหาเฉพาะที่คู่ความเขาอุทธรณ์ตั้งปัญหามาให้ศาลฎีกาตอบซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นปัญหาที่อยู่ในคำถาม
๓ สืบเนื่องจากข้อ ๑ การไม่ให้ความสนใจหลักกฎหมายจึงทำให้การเตรียมตัวในเรือ่งตำราและการหาความรู้จากอาจารย์ผิดพลาดไปด้วย เช่นคำตอบในหลายกระทู้ชื่นชอบและแนะนำตำราที่เป็นพื้นฐานเกินไป หรือชื่นชอบอาจารย์ที่อธิบายละเอียด ช้า แต่ไม่ลงลึก ถึงแม้จะเข้าใจง่ายแต่ไม่เพียงพอในการทำให้มีความรู้ในการสอบที่สูงขึ้น จึงต้องพยายามสนใจในตำราและอาจารย์ที่สอนลงลึกในเรื่องการใช้กฎหมายซึ่งอาจน่าเบื่อ แต่แก้ไขได้โดยต้องเตรียมพื้นฐานของเราให้แน่นก่อน
๔ ชอบแนะนำว่าให้ใช้ถ้อยคำในฎีกา ที่ถูกคือใช้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายก่อน ถ้อยคำในฎีกามาอธบายตัวบท
๕.ไม่ให้ความสำคัญว่าคำถามมีกี่ประเด็น ซึ่งต้องมาจากข้อเท็จจริงในคำถาม
๖ จากข้อ ๕ การไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงในคำถามทำให้ตอบไม่ครบประเด็น และบ่อยครั้งที่ตอบเกินประเด็นเพราะไปสมมุติข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ (ห้ามสมมุติเด็ดขาด)
๗ คำตอบไม่มีการปรับข้อเท็จจริง(ตามคำถาม) เข้ากับ หลักกฎหมายที่เรารู้และได้แสดงออกมาในคำตอบ
๘ ข้อผิดพลาดที่สำคัญคือ การลอกคำถามมาทั้งหมดแล้วก็สรุปธงคำตอบ ที่ถูกคือต้องแยกตอบข้อเท็จจริงตามคำถามป็นเรื่องๆไปแล้วปรับหลักกฎหมายที่ถูกต้องเป็นประเด็นไป
๙ มักจะเข้าใจผิดว่าเลขมาตราไม่สำคัญ ความจริงคือหลักกฎหมายย่อมหมายถึง กฎหมายอะไร มาตราอะไร เนื้อหาว่าอย่างไร ตีความได้ว่าอย่างไร ถ้ารู้จะไปอายทำไมที่จะเขียนตอบ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้คะแนนดีๆทำไมไม่จำ
๑๐ ไม่ระวังหลักกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง อันนี้มาจากวิชาพยาน ที่คำตอบจำนวนไม่น้อยชอบโมเมตอบตอบหลักเรื่องการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบปนกับหลักเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานได้หรือไม่ เรื่องนี้พูดแล้วเหนื่อย คงเป็นเพราะอาจารย์สอนไม่ดี

นำมาจากข้อเขียนของ อ.พรเพชร วิชิตชลชัย

วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ระบบบริหารราชการไทย 1

ความหมายของการบริหารราชการ
คำว่า การบริหารราชการ หรือ การบริหารรัฐกิจ (public administration) สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้
การบริหาร (administration) โดยทั่วไป หมายถึง การใช้ทรัพยากรต่างๆที่มีอยู่ อย่างเป็นระบบ เพื่อให้การทำงานสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
ความเห็นของพิฟเนอร์ (Pfifner) มองว่า การบริหารงาน คือ การเชื่อมโยงระหว่างวิธีการ means และวัตถุประสงค์ ends เข้าด้วยกัน โดยอาศัยการจัดองค์การ การอำนวยการ และการสั่งการ เพื่อให้สามารถนำทรัพยากรมาใช้ในการปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย
สมาน รังสิโยกฤษฏ์ กล่าวว่า การบริหาร (Administration) หมายถึง ความพยายามในการที่จะร่วมมือกันดำเนินงานในหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนคำว่า ราชการ (Public) หมายถึง งานหรือกิจการต่างๆที่ภาครัฐพึงปฏิบัติทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับราชการพลเรือน ราชการทหาร และรัฐวิสาหกิจ ในบางประเทศจะรวมถึงกิจการของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการด้วย

ความหมายของการบริหารราชการสามารถแยกพิจารณาได้ 2 กลุ่ม (มุมแคบ/มุมกว้าง)
กลุ่มแรก (มุมแคบ) การบริหารราชการ หมายถึง เฉพาะกิจกรรมที่ดำเนินการโดยฝ่ายบริหารเท่านั้น ดังนั้นในส่วนน้าเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับข้าราชการ
1. ลูเธอร์ กูลิค กล่าวว่า การบริหารราชการ เป็นการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับฝ่ายที่นำนโยบายไปปฏิบัติ
2. เจมส์ ดับบลิว เฟสเลอร์ ให้ความหมายว่า เป็นการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยส่วนราชการต่างๆ และที่สำคัญจะต้องเป็นกิจกรรมที่ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ
3. เฮอร์เบิร์ต ไซมอน มองว่า การบริหารราชการ เป็นการดำเนินกิจกรรม หรือการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐหรือฝ่ายบริหารทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และรัฐบาลท้องถิ่น รวมถึงงานของรัฐวิสาหกิจด้วย แต่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการ

กลุ่มที่สอง(มุมกว้าง) การบริหารราชการ หมายถึง กิจกรรมทุกปะเภทของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นด้านนิติบัญญัติ ตุลาการ หรือฝ่ายบริหาร
1. ฟิลิกซ์ เอ ไนโกร กล่าวว่า การบริหารราชการ มีความหมายครอบคลุมดังนี้
(1) เป็นความพยายามของกลุ่มที่จะร่วมมือกันปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
(2) กิจกรรมต่างๆครอบคลุมถึงฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ
(3) มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย (จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางการเมือง)
(4) แตกต่างจากเอกชน
(5) เกี่ยวข้องกับเอกชน ปัจเจกชนหลายคนในการจัดบริการให้ชุมชน
2. มาร์แชล ดิมอค ให้ความหมายของการบริหารราชการว่า หมายถึง การที่รัฐทำอะไรและทำอย่างไร อะไรคือ งานหรือกิจกรรมต่างๆ ส่วนอย่างไรนั้น คือ วิธีดำเนินการ เพื่อให้กิจกรรมบรรลุผล
3. สมาน รังสิโยกฤษฏ์ และสุธี สุทธิสมบูรณ์ กล่าวว่า การบริหารราชการ ก็คือ ความพยายามในการที่จะร่วมมือกันดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ หรือดำเนินกิจกรรมต่างๆที่รัฐพึงปฏิบัติให้บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้
จากความหมายดังกล่าวข้างต้น การบริหารราชการนั้น จะต้องประกอบไปด้วย
1. หน่วยงาน หรือส่วนราชการ เพื่อดำเนินกิจการต่างๆที่รัฐพึงปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้
2. มีเป้าหมาย ซึ่งสามารถดูได้จาก แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และมติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น
3. ระเบียบบริหารราชการ การปฏิบัติงานของส่วนราชการต่างๆนั้น จะต้องเป็นไปตามระเบียบบริหารราชการของประเทศนั้นๆด้วย กล่าวคือ เป็นการปฏิบัติงานภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้การใช้ทรัพยากรต่างๆอันประกอบด้วย คน เงิน/งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และรูปแบบการทำงานนั้น เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งนี้กฎหมายที่สำคัญในการบริหารราชการ ได้แก่ กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน เป็นต้น



ความสำคัญของระบบราชการ
การบริหารราชการเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญ กล่าวกันว่าหากการบริหารราชการขาดประสิทธิภาพ ระบบการปกครองประเทศก็จะอ่อนแอตามไปด้วย ทั้งนี้เพราะการบริหารราชการนั้น เป็นการนำนโยบายของรัฐไปปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็มีส่วนในการกำหนดนโยบาย และยังเป็นกลไกสำคัญที่จะดำรงรักษา และพัฒนาสังคม
1. การนำนโยบายไปปฏิบัติ
ดังได้กล่าวไปแล้วว่า การบริหารราชการ หมายถึง การจัดการทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้โดยนโยบายของรัฐ ซึ่งนโยบาย ก็คือ กิจกรรมทุกประเภทของภาครัฐทั้งในระดับประเทศ ระดับกระทรวง ทบวง กรม และในระดับท้องถิ่น โดยทั่วไปนโยบายอาจจะอยู่ในรูปของกฎหมาย ระเบียบวิธีปฏิบัติ แผนงาน และโครงการต่างๆ
เมื่อรัฐได้กำหนดนโยบายในการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ส่วนราชการจะเป็นผู้ที่นำนโยบายเหล่านั้นไปแปรสภาพให้เป็นการกระทำ เป็นความจริงขึ้นมา ด้วยการจัดหาทรัพยากรและบริหารทรัพยากรเหล่านั้นตามเป้าหมายเพื่อทำให้นโยบายของรัฐบรรลุผล และที่สำคัญก็คือ ความจริงใจ และความเต็มใจในการดำเนินงานตามนโยบายของข้าราชการจะมีผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของแผนงานหรือโครงการต่างๆด้วย
ผู้เกี่ยวข้องในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
(1) องค์กรฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง นายกเทศมนตรี นายกอบจ.
(2) องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ อาทิ รัฐสภา (สส. และสว.) รวมไปถึงสภาท้องถิ่น สภาอบต. สภาเทศบาล
(3) หน่วยงานราชการ เช่น กระทรวง ทบวง กรม เทศบาล อบจ. อบต.
(4) องค์กรที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ เช่น กลุ่ม NGO (องค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร) สหภาพ สมาคมแรงงาน รวมถึงบริษัทเอกชนต่างๆ
(5) ตุลาการ ได้แก่ ศาลยุติธรรม ศาล อัยการ

2. การมีส่วนกำหนดนโยบาย
นอกจากการนำนโยบายไปปฏิบัติแล้ว การบริหารราชการยังมีส่วนในการกำหนดนโยบายด้วย ซึ่งกระทำได้ใน 2 ขั้นตอน คือ
2.1 ก่อนที่ฝ่ายนิติบัญญัติและรัฐบาลจะตัดสินใจกำหนดนโยบาย
ในการกำหนดนโยบายนั้น ข้อเสนอสำหรับการกำหนดตัวบทกฎหมายนั้นมาจากแหล่งต่างๆหลายแหล่งด้วยกัน และหน่วยงานของรัฐนับเป็นแหล่งข้อมูลที่มีความสำคัญที่สุดแหล่งหนึ่ง เพราะว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกิจกรรมอยู่ย่อมจะมีข้อมูลเกี่ยวกับกิจกรรมนั้นอยู่พร้อมแล้ว ไม่ว่าจะ เป็นข้อมูลในด้านความต้องการหรือแนวโน้ม นอกเหนือไปจากการมีผู้เชี่ยวชาญพร้อมจะวิเคราะห์ข้อมูล และยังเป็นหน่วยงานที่รู้ถึงข้อดีข้อเสียของโครงการที่ได้ลงมือปฏิบัติไปแล้วด้วย ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลที่มีอคติน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับข้อมูลที่มาจากแหล่งอื่น เช่น กลุ่มผลประโยชน์
ในระยะหลังหน่วยงานราชการจะมีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐมากขึ้น เนื่องจากขอเขตของงานเกี่ยวข้องกับเทคนิคใหม่ๆมากขึ้น ซึ่งส่วนราชการมักจะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆพร้อมอยู่แล้ว เช่น การกำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ ข้อแนะนำจากนักเศรษฐศาสตร์อาชีพ เป็นต้น (ปัจจุบัน จะเห็นว่า มีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นรัฐมนตรีมากขึ้น)
2.2 หลังการกำหนดนโยบาย
โดยส่วนใหญ่นโยบายที่กำหนดขึ้นมาแล้ว มักจะไม่มีรูปแบบที่แน่นอน บางครั้งก็กำหนดให้รายละเอียดมาก บางครั้งก็กำหนดไว้อย่างกว้างๆ เพียงสะท้อนให้เห็นถึงปัญหา หรือชี้ให้เห็นแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น ดังนั้นในลักษณะนี้ ข้าราชการจะเป็นฝ่ายกำหนดรายละเอียดอีกชั้นหนึ่ง
เหตุผลที่รัฐไม่อาจกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในทุกกรณี เพราะว่า กิจกรรมบางอย่างเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามามีบทบาทมาก ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การกำหนดนโยบายจึงต้องมีความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติแก่หน่วยงาน ซึ่งเหมาะสมกว่าการกำหนดนโยบายใหม่ทุกครั้งตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นการเปิดช่องไว้ให้ผู้เชี่ยวชาญได้กำหนดหลักเกณฑ์ในรายละเอียดเองเพื่อความรัดกุมกว่าได้ (กฎหมายรอง และกฎหมายลูก)
3. การเป็นกลไกธำรงรักษาและพัฒนาสังคม
การบริหารราชการเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจและสังคม และเป็นแรงขับที่สำคัญที่จะกำหนดลักษณะกิจกรรมของประเทศ กิจกรรมของรัฐยังมีบทบาทในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่างๆตามมา
ในสมัยก่อน การบริหารราชการยังไม่มีความสำคัญต่อชีวิตประชาชนมากนัก ยังมีบทบาทเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐในการดูแลให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคม ดูแลด้านการป้องกันประเทศ กล่าวคือ ยังไม่ได้มุ่งเน้นทางด้านการให้บริการเช่นปัจจุบัน ทุกวันนี้หน่วยงานของรัฐมีกิจกรรมมากขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และภาครัฐเองยังมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือ การเป็นผู้ผลิต ผู้แจกจ่าย และผู้รับใช้ประชาชน ทั้งนี้เพราะชีวิตของแต่ละบุคคลในสังคมจะเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการตั้งแต่เกิด จนตาย เช่น การที่รัฐเข้าไปดูแลด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา(ภาคบังคับ – ขั้นพื้นฐาน) การประกอบอาชีพ(การคุ้มครองแรงงาน – การจัดหางาน) รวมไปถึงประโยชน์และบริการจากรัฐ ทั้งในด้านสาธารณูปโภค การคมนาคม ตัวบทกฎหมายต่างๆ เป็นต้น
ดังนั้น ความก้าวหน้าของสังคมจึงขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิภาพในการบริหารของรัฐ หากการบริหารราชการขาดประสิทธิภาพก็จะมีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมเป็นอย่างมาก
ประเภทของภารกิจการบริหารราชการ
หน่วยงานของรัฐนั้นจะผลิตสินค้าและบริการที่สนองความต้องการของสมาชิกสังคมโดยส่วนรวม มิใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง สินค้าและบริการเหล่านี้ อาทิ บริการที่ไม่อาจมอบหมายให้เอกชนรับไปดำเนินการได้ เช่น การป้องกันประเทศ และเป็นการผลิตบริการที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทุกคนว่าจะร่ำรวยหรือยากจน เช่น การศึกษา สำหรับการแบ่งภาระงานการบริหารราชการอาจจะแยกเป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. ประเภทงานบริการ ได้แก่ งานที่มีวัตถุประสงค์หลักในการผลิตสินค้าและบริการ
ให้แก่สังคม เช่น งานป้องกันประเทศ งานรักษาความสงบเรียบร้อย งานด้านการศึกษา งานสาธารณสุข ซึ่งมีบุคลากรที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทหาร ตำรวจ พนักงานดับเพลิง เป็นต้น
2. ประเภทงานควบคุมและจัดระเบียบ ได้แก่ งานที่มีวัตถุประสงค์ในการแทรกแซงกิจการในตลาดการค้า เพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรมในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งส่วนราชการจะทำหน้าที่ควบคุมโดยการกำหนดกฎระเบียบ หรือโดยกิจกรรม เช่น การออกใบอนุญาต การลงทะเบียน การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ การดูแลเกษตรกรมิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ เป็นต้น
3. ประเภทงานสนับสนุน ได้แก่ งานที่ให้บริการหน่วยงานอื่นๆของภาครัฐ ส่วนราชการในกลุ่มนี้ เช่น สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นต้น
4. ประเภทงานสงเคราะห์และช่วยเหลือ ได้แก่ งานที่ทำหน้าที่ช่วยจัดสรรทรัพยากรให้แก่ผู้ด้อยโอกาส หรือผู้ขาดแคลนทรัพยากรที่จะดำรงชีวิตในสังคม เช่น กรมแรงงาน กรมประชาสงเคราะห์ การพัฒนาชุมชน พัฒนาชนบท เป็นต้น
การแบ่งแยกประเภทภารกิจนี้ไม่ได้เป็นการแยกอย่างเด็ดขาด หน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการ อาจจะทำหน้าที่ด้านการให้ความช่วยเหลือหรือทำหน้าที่ด้านการควบคุมและจัดระเบียบไปพร้อมกันก็ได้ ส่วนภารกิจใดจะสำคัญมากน้อยกว่ากันนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้เกี่ยวข้อง และการนำไปปฏิบัติ

ประเด็นสำคัญในการให้บริการของรัฐ
1. การให้บริการที่เป็นที่พึงพอใจแก่สังคม
ความพึงพอใจของประชาชนหรือผู้รับบริการเป็นเป้าหมายสำคัญประการหนึ่งของการบริหารราชการ ซึ่งองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดความพึงพอใจนั้น มีดังต่อไปนี้
1.1 การให้บริการที่เท่าเทียมกันแก่ประชาชน ไม่ว่าจะมีฐานะหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไรก็ตาม
1.2 การให้บริการในเวลาที่เหมาะสม แม้จะให้บริการอย่างเท่าเทียมกัน แต่อาจจะไม่สามารถสร้างความพึงพอใจได้ หากไม่ได้ให้บริการในเวลาที่เหมาะสม เช่น งานดับเพลิง การช่วยเหลือผู้ประสบภัยต่างๆ
1.3 การให้บริการในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป
1.4 การให้บริการที่มีความต่อเนื่อง และประชาชนสามารถขอรับบริการได้ทุกเมื่อที่ต้องการ ไม่ใช่ให้ๆแล้วก็หยุดตามอำเภอใจ
1.5 มีการปรับปรุงการให้บริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มิใช่การย่ำอยู่กับที่หรือถอยหลัง
2. การให้บริการโดยมีความรับผิดชอบต่อประชาชน โดยทำหน้าที่และให้บริการที่สนองตอบต่อความต้องการของประชาชน การให้บริการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีความซื่อสัตย์ สุจริต กระตือรือร้นที่จะให้บริการ

วันพฤหัสบดีที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

วันไหว้ครู

การไหว้ครู เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่นิยมกันมาแต่โบราณ ถือว่าเมื่อจะเริ่มกิจการใดๆ เช่น เริ่มศึกษาเล่าเรียน ต้องเริ่มไหว้ครูก่อน เรียกว่าขึ้นครู เพื่อการงานที่ริเริ่มนั้นๆจะสำเร็จด้วยดี ในเรื่องการเรียนหนังสือของโรงเรียนต่างๆนั้น กระทรวงศึกษาธิการก็มิได้ทอดทิ้งประเพณีโบราณ และได้วางเป็นระเบียบปฏิบัติในการนี้ไว้ เพื่อให้โรงเรียนต่างๆ ปฏิบัติเป็นแบบอย่างเดียวกัน

วันอังคารที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

My patooman

สร้างบล็อกเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2550