วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2550

ข้อผิดพลาด ๑๐ ประการในการตอบข้อสอบวิชากฎหมาย

จากการประเมินผลในการแสดงความเห็นในกระทู้ต่างๆเกี่ยวกับการตอบข้อสอบปัญหาตุ๊กตาแล้ว เห็นว่ายังมีข้อเข้าใจผิดและข้อผิดพลาด ที่รวบรวมได้ดังนี้
๑. เน้นแต่ธงคำตอบ ไม่เคยถกถามว่าข้อนี้เราต้องนำหลักกฎหมายเรื่องใดมาตอบ เราได้ตอบหลักกฎหมายเป็นเหตุผลที่ถูกต้องหรือไม่
๒. เน้นว่าต้องตอบตามฎีกา โดยลืมความจริงว่าฎีกานั้นตอบปัญหาเฉพาะที่คู่ความเขาอุทธรณ์ตั้งปัญหามาให้ศาลฎีกาตอบซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นปัญหาที่อยู่ในคำถาม
๓ สืบเนื่องจากข้อ ๑ การไม่ให้ความสนใจหลักกฎหมายจึงทำให้การเตรียมตัวในเรือ่งตำราและการหาความรู้จากอาจารย์ผิดพลาดไปด้วย เช่นคำตอบในหลายกระทู้ชื่นชอบและแนะนำตำราที่เป็นพื้นฐานเกินไป หรือชื่นชอบอาจารย์ที่อธิบายละเอียด ช้า แต่ไม่ลงลึก ถึงแม้จะเข้าใจง่ายแต่ไม่เพียงพอในการทำให้มีความรู้ในการสอบที่สูงขึ้น จึงต้องพยายามสนใจในตำราและอาจารย์ที่สอนลงลึกในเรื่องการใช้กฎหมายซึ่งอาจน่าเบื่อ แต่แก้ไขได้โดยต้องเตรียมพื้นฐานของเราให้แน่นก่อน
๔ ชอบแนะนำว่าให้ใช้ถ้อยคำในฎีกา ที่ถูกคือใช้ถ้อยคำในตัวบทกฎหมายก่อน ถ้อยคำในฎีกามาอธบายตัวบท
๕.ไม่ให้ความสำคัญว่าคำถามมีกี่ประเด็น ซึ่งต้องมาจากข้อเท็จจริงในคำถาม
๖ จากข้อ ๕ การไม่ให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงในคำถามทำให้ตอบไม่ครบประเด็น และบ่อยครั้งที่ตอบเกินประเด็นเพราะไปสมมุติข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ (ห้ามสมมุติเด็ดขาด)
๗ คำตอบไม่มีการปรับข้อเท็จจริง(ตามคำถาม) เข้ากับ หลักกฎหมายที่เรารู้และได้แสดงออกมาในคำตอบ
๘ ข้อผิดพลาดที่สำคัญคือ การลอกคำถามมาทั้งหมดแล้วก็สรุปธงคำตอบ ที่ถูกคือต้องแยกตอบข้อเท็จจริงตามคำถามป็นเรื่องๆไปแล้วปรับหลักกฎหมายที่ถูกต้องเป็นประเด็นไป
๙ มักจะเข้าใจผิดว่าเลขมาตราไม่สำคัญ ความจริงคือหลักกฎหมายย่อมหมายถึง กฎหมายอะไร มาตราอะไร เนื้อหาว่าอย่างไร ตีความได้ว่าอย่างไร ถ้ารู้จะไปอายทำไมที่จะเขียนตอบ ถ้าไม่รู้แต่อยากได้คะแนนดีๆทำไมไม่จำ
๑๐ ไม่ระวังหลักกฎหมายที่ไม่ถูกต้อง อันนี้มาจากวิชาพยาน ที่คำตอบจำนวนไม่น้อยชอบโมเมตอบตอบหลักเรื่องการสอบสวนชอบหรือไม่ชอบปนกับหลักเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานได้หรือไม่ เรื่องนี้พูดแล้วเหนื่อย คงเป็นเพราะอาจารย์สอนไม่ดี

นำมาจากข้อเขียนของ อ.พรเพชร วิชิตชลชัย

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หลักการตอบข้อสอบอัตนัยวิชากฎหมาย
1. ทำจิตใจให้สงบอย่าประหม่า ตื่นเต้นเกินไป
2. อ่านข้อสอบให้ทราบว่า ข้อสอบถามอะไรบ้าง มีกี่ประเด็นและเกี่ยวข้องกับหลักกฎหมายใดบ้าง (อาจโน๊ตย่อกันลืมเป็นประเด็นไว้ในข้อสอบก่อน)
3. ทำข้อสอบข้อที่ง่ายก่อน
4. ไม่ต้องลอกโจทย์ในการทำข้อสอบ
5. จัดลำดับการตอบคำถามเป็นขั้นตอนก่อนหลัง โดยเริ่มจากการอ้างอิงหลักกฎหมายและปรับข้อเท็จจริงในคำถามให้เข้ากับหลักกฎหมายที่อ้างอิง และสรุปผลตามประเด็นที่ถาม
6. การตอบคำถามต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าอาจารย์ผู้ตรวจกระดาษคำตอบ ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ดังนั้น การเขียนอธิบายคำตอบจึงต้องมีความชัดเจน และสามารถอ่านเข้าใจกฎหมายได้ดี
7. การตอบคำถามควรอธิบายโดยใช้ภาษากฎหมาย
8. ไม่ควรตอบคำถามสั้น หรือ ยืดยาวเกินไป
9. ต้องตอบคำถามให้ครบตามประเด็นที่ข้อสอบถาม
10. ไม่ควรเขียนคำตอบในประเด็น หรือเรื่องที่ข้อสอบไม่ได้ถาม
11. การยกหลักกฎหมายมาอ้างอิงในการตอบ แม้จะต้องอ้างอิงซ้ำในคำถามต่างข้อกัน นักศึกษาต้องอ้างอิงใหม่แยกต่างกันในรายข้อ
12. การตอบคำถามควรเขียนเป็นลายมือที่อ่านง่าย เพื่อสะดวกในการตรวจกระดาษคำตอบ
13. การตอบข้อสอบ ไม่ควรโต้แย้งข้อเท็จจริงที่กำหนดในคำถาม
14. การเขียคำตอบควรเขียนโดยใช้ถ้อยคำในภาษาไทยทั้งหมด
15. ไม่ควรเขียนเรื่องส่วนตัวของนักศึกษาลงในกระดาษคำตอบ
16. ก่อนส่งกระดาษคำตอบ ควรตรวจทานว่ามีข้อบกพร่อง หรือต้องการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหรือไม่
ที่มา : การบรรยายเรื่อง เทคนิคการตอบข้อสอบวิชากฎหมายแบบอัตนัย โดย รศ.ดร. สมชาย กษิติประดิษฐ์ และ ผศ. ประสิทธิ์ จงวิชิต