วันอังคารที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานในการนำนโยบายไปปฏิบัติ

สรุปความจาก Lorence J. O’Toole, Jr. (2003) Interorganizational Relations in Implementation.


               งานของ O’Toole ให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานที่ส่งผลต่อกระบวนการนำนโยบายไปฏิบัติและความสำเร็จของนโยบาย โดยมีคำถามสำคัญคือ จะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างราบรื่นและส่งผลดีต่อการนำนโยบายไปปฏิบัติ

               โดย O’Toole เห็นว่านโยบายสาธารณะประเภทใดก็ตามที่ต้องดำเนินการโดยอาศัยหน่วยงานตั้งแต่2 หน่วยงานขึ้นไป การนำนโยบายไปฏิบัติก็จะมีความซับซ้อนและยุ่งยากมากขึ้น และมีความจำเป็นที่รัฐจะต้องสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงานร่วมกันเพื่อป้องกันความขัดแย้ง

               เนื่องจากแต่ละหน่วยงานจะมีธรรมชาติ ภารกิจ มุมมอง ค่านิยม ตลอดจนเป้าหมายและวัตถุประสงค์การดำเนินงานที่แตกต่างกัน ในขณะที่การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานนั้น ก็ไม่ได้เป็นไปตามสายการบังคับบัญชาโดยตรง ดังนั้น การสร้างระบบการการติดต่อประสานงาน ระบบข้อมูลข่าวสารร่วม เพื่อสร้างการรับรู้และการเข้าใจร่วมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

              ประเด็นต่อมาที่ O’Toole ชี้ว่า มีความสำคัญคือ ระดับการพึ่งพาทรัพยากรที่มีต่อหน่วยงานอื่นว่าเป็นไปในลักษณะแบบใด อาทิ reciprocal, pool หรือ sequential เป็นต้น ซึ่งในแต่ละรูปแบบนี้ การมีตัวแสดงหรือหน่วยงานเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลที่แตกต่างกันได้ทั้งในเชิงบวกหรือเชิงลบต่อการประสานงานและการนำนโยบายไปปฏิบัติ เช่น การที่มีหน่วยงานเพิ่มขึ้นในรูปแบบของการใช้ทรัพยากรแบบsequential อาจจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการ เพราะมีหน่วยงานแทรกเข้ามาในกระบวนการที่ต้องอาศัยทรัพยากรแบบเชื่อมโยงต่อเนื่องกัน แต่ในขณะที่การเพิ่มหน่วยงานในรูปแบบการใช้ทรัพยากรแบบ pool ก็อาจจะมีผลให้การบริการรวดเร็ว และครอบคลุมมากขึ้นได้ กล่าวคือ งานของ O’Toole ได้ชี้ให้เห็นว่า การมีหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้นในการนำนโยบายไปปฏิบัตินั้น มิได้หมายความว่า จะต้องนำไปสู่ความยุ่งยากและความล้มเหลวเสมอไปนั่นเอง

ไม่มีความคิดเห็น: