วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

Towards an integrated criminal policy

สรุปความจาก Tom Van Broeck, Kristel Beyens and An Raes


งานวิจัยของ Tom Van Broeck, Kristel Beyens and An Raes เป็นการศึกษาว่า นโยบายด้านความปลอดภัยและความยุติธรรมมีการนำไปปฏิบัติอย่างไรทั้งในส่วนงานของตำรวจ หน่วยงานด้านความมั่นคง และงานด้านยุติธรรม เนื่องจากนโยบายด้านอาชญากรรมนั้น มีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย และเป้าหมายที่เป็นทางการของนโยบายจะถูกแปรเป็นเป้าหมายแท้จริงในทางปฏิบัติอย่างไร และความหลากหลายของวัตถุประสงค์นโยบาย ยังหมายถึงการที่ต้องดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ทั้งในและนอกภาครัฐด้วย โดยเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งคือ การติดต่อสื่อสารจากส่วนกลางไปสู่ระดับท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งความคิดที่อยู่เบื้องหลังงานวิจัยนี้คือ ภายใต้วัตถุประสงค์ที่เป็นทางการนั้น แฝงไว้ด้วยเป้าหมายที่ไม่เป็นทางการมากมาย ซึ่งถูกกำหนดโดยตัวแสดงต่างๆที่เข้ามาเกี่ยวข้อง และบางครั้งสิ่งเหล่านั้นยังขัดแย้งกับเป้าหมายหลักของนโยบาย ที่แสดงให้เห็นผ่านการนำนโยบายไปปฏิบัติที่มีลักษณะคลุมเครือ ดังนั้น การวิจัยในประเด็นเหล่านี้จึงมีความน่าสนใจอย่างยิ่ง

โดยงานวิจัยนี้ ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

1. การศึกษาในส่วนงานของตำรวจ ทั้งในแง่ของเอกสารที่นำเสนอโดยกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี 1995 และกฎบัตรด้านความมั่นคง และทำการวิเคราะห์ถึงการนำนโยบายไปปฏิบัติเพื่อพัฒนาความมั่นคงในสังคมเมือง เช่น การควบคุมการใช้ความรุนแรงของเยาวชน และปัญหาโสเภณี เป็นต้น โดยการศึกษาจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการผสานนโยบายระหว่างตำรวจ, เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และบุคคลากรด้านงานพิจารณาคดี ทั้งในแง่ของเป้าประสงค์ องค์การ และการปฏิบัติภารกิจ

2. การศึกษาเกี่ยวกับระบบการลงโทษตามกฎหมาย ในส่วนของกระบวนการพิจารณาคดี อาทิ ความรวดเร็วในการพิจารณาคดี การรักษาความยุติธรรมโดยชุมชน และการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีอาญา โดยเป็นการวิเคราะห์ทั้งในแง่ความสอดคล้องของกฎหมาย และการประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติของแต่ละท้องถิ่น

3. การศึกษาถึงการรับรู้และการยอมรับของประชาชนที่มีต่อนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัย

ทั้งนี้ การศึกษาในแต่ละส่วนจะมีคำถามสำคัญคือ ความสอดคล้องของนโยบาย ระหว่างหน่วยงานที่หลากหลายจะจัดการได้อย่างไร, หลักการพื้นฐานทางกฎหมายเพียงพอต่อการปฏิบัติหรือไม่, ปัญหาหรืออุปสรรคใดที่เป็นตัวขัดขวางต่อประสิทธิภาพในการนำนโยบายไปปฏิบัติ

จากผลการศึกษาพบว่า ปัญหาในการนำนโยบายด้านความมั่นคงปลอดภัยไปปฏิบัตินั้น เกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ให้ความสนใจเท่าที่ควร และการที่จะช่วยให้การปฏิบัตินโยบายเป็นไปอย่างราบรื่นนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาองค์การในด้านต่างๆ อาทิ บุคลการ และวิธีการปฏิบัติแล้ว การส่งผ่านของข้อมูลข่าวสาร (flow of information) การสร้างช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และการเปลี่ยนวัฒนธรรม (cultural change) นับว่ามีความสำคัญเช่นกัน และการละเลยในสิ่งเหล่านี้ อาจจะส่งผลให้ช่องว่างระหว่างเป้าหมายที่รัฐกำหนด กับเป้าหมายที่เกิดขึ้นจริงยิ่งแตกต่างกันมากขึ้น และตัวนโยบายนั้นไม่ใช่แค่สามารถนำไปปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงข้อมูลข่าวสาร และการรู้ว่าจะทำอย่างไร (know how) เกี่ยวกับนโยบายนั้น เช่นเดียวกับตัวบุคคลากรที่ต้องมีความปรารถนาที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติด้วย ไม่ว่าจะเป็นการยอมรับ หรือมีเจตนาอื่นแฝงอยู่ก็ตาม

นอกเหนือจากการติดต่อสื่อสารที่ดีภายในหน่วยงานแล้ว การติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย นับว่ามีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะ การตระหนักถึงความแตกต่าง ขัดแย้งในแง่ของวัฒนธรรมองค์การ และวิสัยทัศน์ ที่มีต่อนโยบาย เพราะแต่ละหน่วยงานก็มีวัตถุประสงค์และภารกิจของตนเอง และการดำเนินงานก็อาจจะมิได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เช่น ค่านิยมหลักของหน่วยงานด้านการพิจารณาคดี จะคำนึงถึงสิทธิของผู้ต้องหา และกระบวนการยุติธรรมอันควร ในขณะที่วัฒนธรรมของตำรวจ จะให้ความสำคัญกับการยึดมั่นในกฎหมาย คำสั่ง และความปลอดภัยของสังคม ซึ่งความแตกต่างนี้ สามารถนำไปสู่ความขัดแย้งในเป้าประสงค์ของนโยบาย และการปฏิบัติงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องประสานหรือตรวจสอบซึ่งกันและกัน ดังเช่น การฝากขังผู้ต้องสงสัยระหว่างการสอบสวน ซึ่งเกี่ยวข้องทั้งตำรวจ อัยการ ศาล

ดังผลการวิจัยที่พบว่า ปัญหาการประสานงานโดยตรงที่น้อยเกินไประหว่างหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หรือการที่ไม่มีหลักประกันที่แน่นอนว่าการตัดสินใจหรือการกระทำโดยหน่วยงานของตน จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งผลต่อการปฏิบัติงานด้านความยุติธรรมได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินงานเพื่อวัตถุประสงค์อย่างเดียวกัน เพราะความหลากลายก็มีคุณค่าในตัวทั้งในเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุล ความครอบคลุม ซึ่งผู้วิจัยได้ย้ำว่า การสร้างช่องทางการติดต่อสื่อสารที่ดีและการมีข้อตกลงที่ชัดเจนในภารกิจที่ได้รับมอบหมายตั้งแต่ส่วนกลาง ระดับภูมิภาค และท้องถิ่น จะส่งผลให้การนำนโยบายไปปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับในส่วนของการสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนที่มีต่อนโยบายนั้น ผู้วิจัยเห็นว่า ปัญหานโยบายมักจะไม่ได้มาจากการระบุหรือการรับรู้ของประชาชนเท่าใดนัก แต่มักจะเป็นปัญหาที่ถูกระบุโดยตัวผู้สร้างนโยบายมากกว่า และการดำเนินงานที่ผ่านมาก็จะเป็นการชี้แจงถึงตัวนโยบายแก่ประชาชนมากกว่าจะเป็นการนำเอาข้อเรียกร้องหรือความเห็นของประชาชนมาพิจารณา แต่ทั้งนี้ ในส่วนของประชาชนเองนั้น ก็มีความแตกต่างหลากหลายด้วยเช่นกัน โดยที่บางกลุ่มก็เป็นประชาชนที่มีกระตือรือร้นและสนใจในนโยบาย แต่บางกลุ่มก็ค่อนข้างเฉยชา ซึ่งความแตกต่างดังกล่าว บางครั้งจำเป็นต้องมีนโยบายที่แตกต่างกันตามไปด้วย นั่นหมายความว่า นโยบายของแต่ละท้องถิ่นก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เพราะความยุติธรรมโดยชุมชนจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้ายังไม่มีนโยบายที่เป็นของชุมชนเอง

(ผู้วิจัยยังได้เสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยอิสระขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นหน่วยงานที่อยู่ภายในระบบหรือเป็นหน่วยงานภายนอกก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม ดังเช่น การตั้งสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย)

ไม่มีความคิดเห็น: